ห่วงเด็กเล็กป่วยบ่อยทำพัฒนาการช้า

     “นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ” เผยปี 58 เด็กทั่วโลกตายจากโรคติดเชื้อ 9 แสนราย ระบุ “ปอดบวม” โรคอันดับหนึ่งการติดเชื้อในเด็ก ห่วงโรคอุบัติใหม่ระบาดสู่คนมากขึ้นจากการรุกป่า

ห่วงเด็กเล็กป่วยบ่อยทำพัฒนาการช้า

     รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคติดเชื้อทำให้คนเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง ซึ่งจากสถิติขององค์การยูนิเซฟ พบว่า เฉพาะปี 2558 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก จำนวนมากถึง 9 แสนราย เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ ซึ่งโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง มือเท้าปาก คางทูม อีสุกอีใส หัด และไข้เลือดออก ซึ่งการเจ็บป่วยในวัยนี้อาจส่งผลต่อพัฒนาการ และสุขภาพโดยรวมของเด็ก และการรักษาที่ถูกต้องไม่เพียงช่วยลดอัตราการตายของเด็กที่ติดเชื้อ ยังสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้แก่ครอบครัว สังคม และภาครัฐด้วย

สำหรับโรคติดเชื้อในเด็กที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่
1.โรคทางเดินหายใจ โดยปอดบวม ยังเป็นโรคอันดับหนึ่ง เป็นเพราะคนเราต้องหายใจตลอดเวลา เมื่อเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ โอกาสที่จะหายใจใส่กัน และแพร่โรคก็มีมาก
2.โรคทางเดินอาหาร โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโรตา
3.โรคหัด ซึ่งโรคติดเชื้อหลายชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

     รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า โรคติดเชื้อมีอยู่มากมาย โดยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ มักเป็นเชื้อฝัง หรือแฝงอยู่ในสัตว์ แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนมีการบุกป่ารุกล้ำที่อยู่ของสัตว์ป่า ทำให้เชื้อโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้มากขึ้น เช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกลาง หรือโรคเมอร์ส ที่พบว่า มีอูฐเป็นแหล่งรังโรค ซึ่งเดิมอูฐก็จะใกล้ชิดอยู่เฉพาะกับคนในทะเลทราย แต่เมื่อคนทั่วไปมีการเข้าไปในทะเลทรายมากขึ้น ก็ติดเชื้อมาสู่คนเมืองมากขึ้นจนเกิดเป็นการแพร่ระบาดของโรค จึงจำเป็นต้องมีการติดตามเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อย่างเป็นระบบ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินการอยู่แล้ว

ขอบคุณที่มา : www.thaihealth.or.th